วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2565

โบว์ลิ่งน่ารู้ By น้าจบ ตอน โยนโบว์ลิ่งสองมือ มีข้อดียังไง และเป็นมายังไง

สวัสดีครับพี่น้องชาวโบว์ลิ่งทุกท่าน วันนี้น้าจบโบว์ลิ่งเทคโนโลยีมีสาระน่ารู้เกี่ยวกับโบว์ลิ่งอีกเรื่องมาแบ่งปันให้พี่น้องทุกท่านนะครับ วันนี้น้าจบจะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องของการโยนโบว์ลิ่งแบบสองมือนะครับ ว่าการโยนโบว์ลิ่งแบบสองมือเป็นมายังไง และมีข้อดียังไง เพราะจากการค้นคว้าหาข้อมูล และประสบการณ์ตรงที่มีโอกาสได้เจาะลูกให้คนที่โยนสองมือ น้าจบคิดว่าการโยนโบว์ลิ่งแบบสองมือมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยครับ ก่อนอื่นน้าจบจะขอพูดถึงความเป็นมาคร่าวๆของการโยนสองมือก่อนนะครับ ว่าการโยนสองมือจริงๆแล้วหลายคนที่โยนแนวนี้เริ่มต้นโยนโบว์ลิ่งมาตั้งแต่เด็กเลยครับ ถ้านึกถึงช่วงเวลาที่คนเล่นยังเป็นเด็กน้อย หนูน้อยตามป๊าไปโรงโบว์ลิ่ง พอเห็นป๊าโยน ป๊าเล่นแล้วสนุก หนูน้อยก็เลยอยากจะโยนเหมือนป๊าบ้าง แต่!!!!! สิ่งที่หนูน้อยคนนั้นพบก็คือลูกโบว์ลิ่งหนักเกินกว่าที่จะถือมือเดียวแล้วโยนเหมือนป๊าได้ แต่ด้วยความอยากโยน หนูน้อยคนนั้นก็เลยอุ้มลูกโบว์ลิ่งด้วยสองมือน้อยๆ แล้วก็วิ่งขว้างออกไปเลยครับ พอหนูน้อยเล่นโบว์ลิ่งไปได้อีกซักพักนึง หนูน้อยก็เริ่มโตขึ้น พอมีแรงถือลูกโบว์ลิ่งด้วยมือเดียวได้แล้ว ป๊าก็จะเริ่มสอนหนูน้อยให้โยนโบว์ลิ่งแบบมือเดียวเหมือนที่ป๊าโยนละ ทีนี้หนูน้อยคนนี้ก็สามารถเลือกได้แล้วครับ ว่าจะโยนมือเดียวแบบที่ป๊าสอน หรือจะโยนสองมือตามแบบที่เคยชินมาตั้งแต่เริ่มโยนต่อไปครับ ถ้าหนูน้อยเลือกฝึกโยนมือเดียว หนูน้อยก็จะโยนในสไตล์ในแบบที่ผู้เล่นนิยมโยนกันครับ แต่ก็เหมือนชะตาลิขิตหนูน้อยคนนี้ยังเลือกที่จะโยนสองมือในแบบที่หนูน้อยเคยชินครับ แรกๆป๊าก็มีค้านบ้าง แต่ด้วยความดื้อบวกกับความตั้งใจของหนูน้อยทำให้ป๊ายอมให้หนูน้อยโยนในแบบที่ตัวเองชอบแล้วโยนมีความสุขครับ นานวันเข้าหนูน้อยเริ่มโตขึ้น โตขึ้นจนเข้าวัยรุ่นหนูน้อยก็กลายเป็นหนุ่มน้อย เวลานี้หนุ่มน้อยคนนี้พร้อมที่จะโยนสองมือในแบบที่ตัวเองฝึกมาตั้งแต่เด็กด้วยพละกำลังอันดุเดือดของวัยรุ่น ทำให้เกิดมาเป็นผู้โยนโบว์ลิ่งแบบสองมือครับ การโยนโบว์ลิ่งแบบสองมือเพิ่งได้รับความนิยมได้ประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านครับ ตั้งแต่ปี 2008 โดยนักโบว์ลิ่งอาชีพรุ่นบุกเบิกในแนวการโยนสองมือในช่วงนั้นมีอยู่สองคนที่มีชื่อเสียงครับ คือเจสัน เบลมอนตี้ (Jason Belmonte) จากออสเตรเลีย และออสคู ปาแลร์มา (Osku Palermaa) จากฟินแลนด์ครับ สองท่านนี้ได้เริ่มต้นการเล่นโบว์ลิ่งอาชีพในปี 2006 เหมือนกันครับ โดยเจสันเข้าสู่วงการโบว์ลิ่งอาชีพ PBA ในปี 2008 และได้รับรางวัลนักโบว์ลิ่งหน้าใหม่แห่งปีในปีนั้นด้วยครับ ส่วนออสคูแข่งโบว์ลิ่งอาชีพอยู่ในโซนยุโรปและรายการแข่งขันระดับนานาชาติเป็นหลักก่อนจะเริ่มแข่งในทัวร์นาเมนต์ PBA ในปี 2009 ครับ ในช่วงนั้น นักโบว์ลิ่งสองท่านนี้มีกระแสตอบรับที่ฮือฮามาก เพราะ ณ ตอนนั้น การโยนสองมือในการแข่งขันถือเป็นเรื่องที่แปลก และการโยนที่มีสปีดการวิ่งของลูกที่เร็ว และรอบที่จัดมหาศาลที่ให้ผู้ชมการแข่งขันรวมถึงผู้เล่นด้วยกันเองให้ความสนใจเป็นอย่างมากครับ และจากการแข่งขัน PBA อย่างต่อเนื่อง สองท่านนี้ก็สร้างผลงานการเป็นแชมป์รายการต่างๆมากมายจนทำให้การโยนแบบสองมือเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในวงการ ทุกวันนี้เจสันเป็นแชมป์ PBA ถึง 23 สมัย (ในนี้เป็นแชมป์รายการใหญ่หรือ PBA Majors ถึง 12 รายการซึ่งถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ PBA แซงหน้าเอิร์ล แอนโธนีในตำนานไปแล้ว) ส่วนออสคู เป็นแชมป์ในรายการของ PBA รวม 5 สมัยครับ ผลงานที่โดดเด่นของสองท่านนี้จึงเป็นการสร้างเวทีให้ยอดฝีมือของนักโบว์ลิ่งสองมือได้แจ้งเกิดอีกหลายคนครับไม่ว่าจะเป็น เยสเปอร์ สเวนสัน (Jesper Svensson) ราชาแห่งลูกยูรีเทน, ไคล์ ทรูป (Kyle Troup), แอนโธนี่ ไซมอนเซน (Anthony Simonsen) และคนอื่นๆอีกมากมาย แม้แต่วอลเทอร์ เรย์ วิลเลี่ยมส์ จูเนียร์ (Walter Ray Williams Jr.) ที่ครองแชมป์ PBA ถึง 47 สมัยก็ยังหันมาฝึกโยนโบว์ลิ่งสองมือในวัย 50 กว่าปี จนเป็นข่าวสะเทือนวงการโบว์ลิ่งเลยทีเดียว การฝึกนี้ก็ไม่ได้เป็นการฝึกเล่นๆ เพราะวอลเทอร์ เรย์นำการโยนสองมือมาใช้ในการแข่งขัน PBA50 หรือการแข่งขัน PBA ในระดับซีเนียร์ที่อายุมากกว่า 50 ปีด้วย และวอลเทอร์ เรย์ยังสามารถโยน 300 แต้มเพอร์เฟคเกมได้ในการแข่ง PBA50 ในปี 2019 ได้ด้วยการโยนสองมือครับ ในส่วนของความเป็นมาและเรื่องราวของการโยนสองมืออาจจะยาวไปนิด น้าจบขอเข้าถึงเนื้อหาและข้อมูลทางเทคนิคของการโยนสองมือบ้างนะครับ 555 การโยนสองมือมีข้อดีหลักๆเลยคือ - สามารถโยนให้มีรอบหมุนจัดจ้านได้ไม่ยากครับ เพราะการโยนสองมือไม่จำเป็นต้องมีการใส่นิ้วโป้งจึงไม่ต้องพะวงเรื่องจังหวะหลุดของนิ้วโป้ง - นอกจากการโยนรอบเยอะแล้ว การโยนสองมือมักทำให้ผู้เล่นมีการปล่อยลูกเป็นแบบไฮแทรคซึ่งสามารถให้สู้น้ำมันและโยนโค้งในสภาพเลนที่ลงน้ำมันหนาๆหรือน้ำมันยาวได้ดีครับ - การโยนสองมือสามารถรับน้ำหนักของลูกได้มากกว่าการโยนมือเดียว เพราะใช้สองมือช่วงกันพยุงลูก - โอกาสบาดเจ็บที่นิ้วยากกว่าการโยนมือเดียวเพราะการโยนไม่ใส่นิ้วโป้ง ทำให้ไม่เกิดการงัดของนิ้วที่รูนิ้วโป้ง จึงทำให้ไม่บาดเจ็บที่นิ้วได้มากกว่า - เนื่องจากการโยนสองทำให้รอบจัดสู้น้ำมันได้ดีมาก จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ลูกโบว์ลิ่งเกรดที่สู้น้ำมันมากก็สามารถเลี้ยวได้ตามตั้งใจ สามารถประหยัดงบไปได้ครับ แต่การโยนสองมือก็ยังมีจุดอ่อนอยู่บ้างซึ่งหากท่านสนใจโยนสองมือ อาจจะต้องฝึกฝนเรื่องเหล่านี้เพื่อปิดจุดอ่อนของการโยนสองมือครับ - ผู้ที่โยนสองมือมีโอกาสที่รอบการหมุนของลูกจะมากกว่าสปีดการวิ่งของลูกได้ง่าย ทำให้ลูกเลี้ยวมากเกินไป การพัฒนาจังหวะการเดินและก้าวก่อนโยนในแบบสองมือจะสามารถเพิ่มสปีดการโยนได้ครับ - วางไลน์การโยนให้แม่นยำได้ค่อนข้างยากในช่วงแรก ต้องอาศัยการฝึกฝนเพื่อให้เกิดความเคยชินกับจังหวะของการโยนสองมือครับ ในส่วนของการเจาะลูกโบว์ลิ่งสำหรับคนโยนสองมือ นับตั้งแต่ USBC มีการประกาศกฏเรื่องการห้ามเจาะรูบาลานซ์ (สำหรับคนโยนสองมือ ถ้าไม่ได้ใส่นิ้วโป้ง รูนิ้วโป้งก็จะถือเป็นรูบาลานซ์เช่นกัน) ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2020 น้าจบจึงได้ยึดแนวทางการเจาะเฉพาะทางสำหรับผู้ที่โยนสองมือโดยเฉพาะเรื่อยๆมา เพื่อให้ลูกโบว์ลิ่งมีประสิทธิภาพสูงที่สุดครับ หากท่านใดสนใจเรื่องการเจาลูกแบบสำหรับโยนสองมือ สามารถนัดเวลาเข้ามาพูดคุยรายละเอียดกับน้าจบได้โดยนัดหมาย
ได้ที่ เพจ ร้าน้าจบรับซ่อมลูกโบว์ลิ่ง
https://www.facebook.com/najobbowling

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น