สวัสดีครับพี่น้องชาวโบว์ลิ่งทุกท่าน วันนี้น้าจบโบว์ลิ่งเทคโนโลยีมีเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับโบว์ลิ่งมาแบ่งปันให้ทุกท่านได้รับชมนะครับ หลายท่านอาจใช้ลูกโบว์ลิ่งผิวยูรีเทนอยู่ หรืออาจจะเคยใช้ลูกโบว์ลิ่งผิวยูรีเทนมาก่อน น้าจบเชื่อว่าท่านไหนที่เคยผ่านการโยนลูกโบว์ลิ่งยูรีเทนมาก่อน ก็น่าจะพบปัญหาเดียวกันคือ “ทำไมโยนได้ไม่กี่ที ลูกยูรีเทนก็ไม่ค่อยจะเลี้ยวแล้ว” วันนี้น่าจบมีคำตอบและแนวทางแก้ไขในแบบฉบับน้าจบมาแชร์ให้ทุกท่านนะครับ
ก่อนอื่นน้าจบจะเล่าเกี่ยวกับลักษณะและความเป็นมาของผิวยูรีเทนก่อนนะครับว่าทำไมใช้งานไปพักนึงแล้วลูกถึงไม่เลี้ยวนะครับ ก่อนที่จะมีลูกโบว์ลิ่งยูรีเทนใช้ ลุกโบว์ลิ่งที่ใช้ในยุคนั้นจะเป็นลูกโบว์ลิ่งผิวยางและลูกโบว์ลิ่งผิวพลาสติกนะครับ แต่ลูกยางก็เสื่อมความนิยมลงทุกวันๆ และลูกโบว์ลิ่งพลาสติกก็กำลังเข้ามาแทนที่เรื่อยๆ แต่ปัญหาก็คือลูกโบว์ลิ่งผิวพลาสติกมีเนื้อที่ค่อนข้างแข็ง วิ่งไถลไม่ค่อยเกาะเลนเมื่อเจอสภาพเลนที่มีน้ำมันจึงทำให้เกิดการพัฒนาผิวสูตรใหม่ขึ้น ในช่วงปี 1980 ลูกโบว์ลิ่งผิวยูรีเทนได้ถูกผลิตและนำมาใช้ และแพร่หลายในเวลาต่อมาเพราะความสามารถในการเลี้ยวโค้งที่เหนือกว่าลูกผิวพลาสติกครับ ลักษณะเด่นของผิวยูรีเทนคือ เป็นผิวที่มีเนื้อละเอียดไม่เป็นรูพรุนและนิ่ม และเพื่อเพิ่มความสามารถในการเกาะเลน โรงงานผู้ผลิตก็มักจะขัดผิวลูกยูรีเทนที่เบอร์ 500-1500 กริทครับ ดังนั้นกลไกการเกาะเลนของผิวยูรีเทนอยู่ที่ความนิ่มและความหยาบของผิวครับเพราะเป็นการเพิ่มหน้าสัมผัสกับเลนและเพิ่มความฝืดไปด้วยในเวลาเดียวกัน แต่เหรียญมีสองด้านครับ ลูกยูรีเทนเองก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกันครับ ด้วยความที่เนื้อยูรีเทนมีลักษณะที่ละเอียดไม่เป็นรูพรุน จุดนี้เลยทำให้ลูกยูรีเทนดูดน้ำมันไม่ได้ครับ และพอโยนไปหลายๆที ลูกก็จะชุ่มน้ำมันแล้วก็จะไถลแล้วก็ไม่ค่อยเกาะเลนครับ อีกอย่างคือเมื่อโยนไปหลายๆเกมผิวที่เคยขัดหยาบไว้ก็จะเริ่มเปลี่ยนสภาพกลายเป็นเงาขึ้นไม่หยาบเหมือนตอนซื้อลูกมาใหม่ๆเพราะการเสียดสีกับพื้นเลนครับ น้าจบจึงมีแนวทางในการแก้ปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้นกับลูกโบว์ลิ่งผิวยูรีเทนจากประสบการณ์ของน้าจบมาแบ่งปันให้พี่น้องที่ใช้ลูกยูรีเทน ตามขั้นตอนด้านล่างนี้เลยนะครับ
1. เช็ดลูกให้แห้งก่อนโยนทุกครั้งครับ: ถือเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่พื้นฐานที่สุดและจำเป็นที่สุดเช่นกันครับ เพราะการเช็ดลูกทุกครั้งเป็นการเอาน้ำมันออกจากผิวทำให้ลูกโบว์ลิ่งยังคงเกาะเลนได้อยู่ครับ ถ้าลองดูการแข่งขัน PBA นักกีฬาที่มีชื่อเสียงมากๆด้านการใช้ลูกยูรีเทนคือเยสเปอร์ สเวนสัน (Jesper Svensson) ถ้าสังเกตุตอนเขาโยน จะเห็นว่าเขาหยิบผ้าขึ้นมาเช็ดลูกยูรีเทนของเขาจนแห้งก่อนโยนทุกครั้งครับ แล้วถ้าถามว่าใช้ผ้าอะไรเช็ดลูกโบว์ลิ่งดี น้าจบแนะนำให้ใช้ผ้าไมโครไฟเบอร์ทั่วๆไปเลยครับ ถ้าเป็นไปได้ ใช้ของ 3M ได้จะดีมากครับเพราะเส้นใยผ้าไมโครไฟเบอร์ของ 3M ค่อนข้างจะกวาดเอาน้ำมันออกไปได้เกลี้ยงมากๆครับ และน้าจบยังแนะนำให้มีผ้าเช็ดลูกไว้หลายๆผืนต่อการโยน 1 รอบนะครับ เพราะถ้าใช้ผ้าผืนเดียวเช็ดไปนานๆ ผ้าก็จะชุ่มน้ำมันแล้วทำให้ตอนเช็ดลูก ผิวของลูกยูรีเทนจะไม่หายชุ่มน้ำมันซะทีเดียวครับ ควรมีการเปลี่ยนผ้าเช็ดลูกอยู่เรื่อยๆระหวางการเล่นเพื่อประสิทธิภาพในการทำงานของลูกยูรีเทนครับ
2. ขัดผิวลูกโบว์ลิ่งบ่อยๆครับ: เพราะอีกเงื่อนไขในการทำงานของยูรีเทน นอกจากผิวต้องแห้งก็คือผิวต้องหยาบครับ เมื่อโยนไปหลายๆเกมเข้า ค่าความหยาบของผิวลูกโบว์ลิ่งจะเปลี่ยนไป ผู้เล่นจึงจำเป็นต้องปรับผิวของยูรีเทนอยู่ตลอดครับ อย่างน้อยที่สุดหลังการเล่นเสร็จ 1 รอบก็ควรมีการขัดผิวซักครั้งครับ หรือถ้าเป็นไปได้ขัดผิวหลังจบทุกๆเกมได้ยิ่งดีเลยครับ ขั้นตอนนี้ไม่ได้ยากอย่างที่คิดนะครับ ท่านสามารถทำเองด้วยมือเปล่าได้เลยครับ หากท่านไม่สามารถหาแผ่นขัดที่เป็นสีแดงๆกลมๆในรูปได้ ท่านสามารถใช้กระดาษทรายทั่วไปที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านฮาร์ดแวร์มาขัดลูกแทนได้ครับ หากเป็นแผ่นขัดน้าจบแนะนำให้ใช้เบอร์ 500 ครับ แต่ถ้าเป็นกระดาษทรายน้าจบขอแนะนำเป็นเบอร์ 600 ครับ และการขัดลูกจะต้องขัดโดยนำกระดาษทรายลูบไปในทางที่ขวางเส้นวงน้ำมันบนลูกครับเพื่อความขรุขระของผิวในทิศทางที่ขวางการวิ่ง สามารถช่วงในเรื่องของการเบรคของบอลได้ครับ
3. ลงน้ำยาเช็ดทำความสะอาดลูกเสมอหลังโยนโบว์ลิ่งเสร็จในแต่ละรอบครับ: การเล่นแต่ละครั้งก็จะทำให้มีสารพัดคราบทั้งคราบน้ำมัน คราบฝุ่น คราบสกปรกติดจากเลนมาที่ลูกของท่านครับ หลังโยนโบว์ลิ่งเสร็จในแต่ละรอบ ท่านจึงควรที่จะลงน้ายาเช็ดทำความสะอาดลูกทุกครั้งครับเพื่อนำคราบสกปรกออกและคงความใหม่ของผิวครับ ซึ่งทางเพจ Alpha Bowling ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์โบว์ลิ่งก็มีการจำหน่ายน้ำยาสำหรับเช็ดทำความสะอาดลูกอยู่ หรือถ้าท่านใดอยากจะ DIY ก็สามารถใช้แอลกอฮอล์ล้างแผลมาฉีดพ่นสำหรับใช้เช็ดลูกโบว์ลิ่งกก่อนที่จะเก็บลูกโบว์ลิ่งเข้ากระเป๋าได้เหมือนกันครับ
แนวทางในการแก้ไขปัญหาจากผิวลูกยูรีเทนเบื้องต้นในฉบับน้าจบก็มีประมาณนี้นะครับ หากมีเรื่องราวสาระน่ารู้ใดๆน่าสนใจเกิดขึ้น น้าจบจะมาแบ่งปันให้ทุกท่านอีกทีนะครับ วันนี้น้าจบต้องขอลาไปก่อน และพบกันใหม่ในตอนหน้านะครับ สวัสดีครับ
ติดต่อน้าจบได้ที่ เพจ ร้าน้าจบรับซ่อมลูกโบว์ลิ่ง
https://www.facebook.com/najobbowling
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น