โบว์ลิ่งน่ารู้ ตอน พาย้อนรอยเทคโนโลยีลูกโบว์ลิ่งวันวาน By น้าจบโบว์ลิ่งเทคโนโลยี
สวัสดีครับพี่น้องชาวโบว์ลิ่งทุกท่าน วันนี้น้าจบโบว์ลิ่งเทคโนโลยี มีเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับลูกโบว์ลิ่งมาแชร์ มาแบ่งปันพี่น้องทุกท่านนะครับ ในฐานะที่น้าจบเป็นช่างเจาะลูกโบว์ลิ่ง น้าจบจึงได้ค้นคว้า ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับลูกโบว์ลิ่งมาตลอด 25 ปีที่ตั้งแต่ที่เริ่มทำงานเจาะลูกโบว์ลิ่งมา วันนี้น้าจบอยากพาทุกท่านย้อนรอยไปดูการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการของเทคโนโลยีลูกโบว์ลิ่งตั้งแต่อดีตมาจนถึงทุกวันนี้ว่าเทคโนโลยีของลูกโบว์ลิ่งเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้างตั้งแต่เริ่มมีกีฬาโบว์ลิ่งยุคใหม่ครับ
โบว์ลิ่งเป็นการละเล่นที่คาดว่ามีมาตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณจากหลักฐานที่พบ คือ อุปกรณ์คล้ายลูกบอลและแท่งพินที่ในสุสานของชาวอียิปต์โบราณ การละเล่นที่คล้ายๆกันก็ยังถูกพบกระจายอยู่ในแถบยุโรปด้วย แต่น้าจบจะขอพูดในส่วนที่เกิดขึ้นในยุคโบว์ลิ่งสมัยใหม่ที่เป็นต้นแบบของโบว์ลิ่งที่พวกเราเล่นกันอยู่ในทุกวันนี้ครับ โรงโบว์ลิ่งในร่มแห่งแรกถูกสร้างขึ้นที่ นิวยอร์คในปี 1840 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโบว์ลิ่งที่เป็นกีฬาในร่มจนถึงทุกวันนี้ครับ แน่นอนครับว่าถ้ามีโรงโบว์ลิ่ง สิ่งที่ต้องตามเลนโบว์ลิ่งมาคู่กันเหมือนแคปหมูกับน้ำพริกหนุ่มก็คือ ”ลูกโบว์ลิ่ง” ครับ ยุคของลูกโบว์ลิ่งก็จะสามารถแบ่งได้ประมาณนี้ครับ
- ยุคลูกโบว์ลิ่งไม้ (1800s - 1920): ในยุคเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปี 1800s จนถึงประมาณช่วงปี 1920 ลูกโบว์ลิ่งทำมาจากไม้เนื้อแข็งจำพวกแก้วเจ้าจอม หรือ Lignum Vitae ครับ เพราะเป็นไม้ที่เนื้อแข็งและทนทานมาก ไม่แตกง่ายๆ และในสมัยนั้นยังหาได้ไม่ยากมากครับ การผลิตในยุคนั้นจำเป็นต้องใช้ฝีมือแรงงานในการผลิตค่อนข้างสูงครับ เพราะการผลิตจะต้องทำไม้แข็งที่เป็นแท่งมาลอกเปลือกออกจนเหลือแต่เนื้อแล้วค่อยมากลึงจากแท่งไม้จนได้รูปทรงกลมครับ แล้วค่อยเอามาขัดเสี้ยนแล้วเจาะรู ในยุคนั้น ลูกโบว์ลิ่งเจาะรูแค่สองรูเท่านั้นครับ ไว้สำหรับใส่นิ้วโป้งและนิ้วกลาง ลูกโบว์ลิ่งที่เป็นไม้ ทุกวันนี้ไม่สามารถหาได้แล้ว เพราะถือเป็นของเก่ามาก อาจจะมีอายุเท่ารุ่นทวดหรือเก่ากว่านั้นเลยทีเดียว ซึ่งน้าจบเองก็ยังไม่เคยเห็นลูกโบว์ลิ่งแบบนี้มาก่อนเหมือนกัน หวังว่าซักครั้งในชีวิตจะได้เห็นลูกโบว์ลิ่งไม้ดั้งเดิมของจริงสักลูกเป็นบุญตาครับ 5555
- ยุคลูกโบว์ลิ่งผิวยาง (1905 - ต้นยุค 1980s): ในช่วงปี 1905 ก็เริ่มมีการผลิตลูกโบว์ลิ่งผิวยาง ในเวลาเดียวกันกับที่ยังมีการใช้ลูกโบว์ลิ่งไม้อยู่ ลูกโบว์ลิ่งยางถูกผลิตจากยางแข็ง SBR และนำมาผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพด้วยกำมะถันหรือการวัลคาไนซ์ (vulcanization) และเติมสารเคมีอื่นๆจนยางออกมามีสีดำ เพื่อเพิ่มความทนทานและยืดหยุ่นยิ่งขึ้น โดยยางแข็งจะถูกใช้ทำเป็นเปลือกนอกเพื่อหุ้มแกนด้านในของลูกโบว์ลิ่งที่ทำมาจากไม้คอร์กครับ หลังจากปี 1920 ลูกโบว์ลิ่งที่ผลิตจากยางได้รับความนิยมมากขึ้น แทนที่ลูกโบว์ลิ่งไม้ เพราะต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ใช้ผลิตลูกโบว์ลิ่งไม้เริ่มหายากขึ้นและยุคนั้นอุตสาหกรรมเริ่มก้าวหน้าขึ้นทำให้การผลิตลูกโบว์ลิ่งยาง สามารถทำได้ง่ายกว่าลูกโบว์ลิ่งไม้ และลูกโบว์ลิ่งยางยังมีคุณสมบัติในการยึดจับผิวเลนที่ดีกว่ากว่าลูกโบว์ลิ่งไม้ ทำให้เป็นที่นิยมในหมู่คนที่โยนโค้งมากกว่าด้วยครับในสมัยนั้น ลูกโบว์ลิ่งยางยังครองตลาดมาจนถึงช่วงต้นของยุค 1980 เลยครับจนถูกแทนที่ด้วยลูกโบว์ลิ่งผิวพลาสติกและผิวยูรีเทนในท้ายสุดครับ ในยุคของลูกโบว์ลิ่งยาง บริษัทเจ้าตลาดก็มีบรันสวิค (Brunswick), แมทฮัตตัน รับเบอร์ (Manhattan Rubber), ดันลอป (Dunlop) และ อีโบไนท์ (Ebonite) ครับ ทุกวันนี้ลูกโบว์ลิ่งผิวยางก็ยังสามารถหาซื้อมือสองได้อยู่บ้างครับ
- ยุคลูกโบว์ลิ่งผิวพลาสติก (1959 - ปัจจุบัน): ในปี 1959 ในยุคที่ลูกโบว์ลิ่งยางกำลังรุ่งเรือง ก็มีลูกโบว์ลิ่งแบบใหม่เกิดขึ้นมาในเวลานั้นครับ พลาสติกโพลีเอสเตอร์ (Polyester) เริ่มถูกใช้ผลิตลูกโบว์ลิ่ง ถึงผิวพลาสติกจะเกาะเลนไม่ดีเท่าผิวลูกโบว์ลิ่งที่เป็นยาง แต่ผิวพลาสติกก็มีเนื้อที่เหนียวกว่า ทนทานกว่า และมีการสึกหรอช้ากว่าผิวยาง ที่สำคัญคือการเจาะลูกโบว์ลิ่งยาง จะมีกลิ่นที่เหม็นยางไหม้มากๆ และจะมีฝุ่นยางดำๆคลุ้งเต็มไปหมด จากประสบการณ์ที่เคยเจาะลูกยางของน้าจบ เจาะไปลูกเดียวร้านเหม็นยางไปเป็นวันเลยครับ และเวลาที่โยนลูกยางก็ยังทำให้มือดำจากฝุ่นดำของยางด้วยครับ แต่การเจาะลูกโบว์ลิ่งที่เป็นพลาสติกจะไม่พบปัญหาเรื่องกลิ่นและฝุ่นดำ ทำให้ลูกโบว์ลิ่งผิวพลาสติกได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนแทนที่ลูกโบว์ลิ่งยางได้ในที่สุดครับ ในยุคนั้นการทำให้ลูกโบว์ลิ่งพลาสติกสามารถโยนเลี้ยวได้มากขึ้นก็มักจะนำลูกพลาสติกมาขัดผิวด้าน เพื่อให้ลูกสามารถเกาะเลนได้มากขึ้นครับ และในช่วงที่ยุคลูกพลาสติกกำลังบูม คนที่สามารถใช้ลูกพลาสติกโยนคว้ารางวัลได้อย่างล้นหลามจนมีชื่อเสียงมากๆคนนึง คือ มาร์ค รอธ (Mark Roth) ครับ (และยังเป็นคนแรกที่สามารถโยนเก็บสปลิทพิน 7-10 ได้ในการแข่งขันรอบ TV ในปี 1980 ด้วย) เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จจน PBA ต้องจัดการแข่ง PBA Mark Roth Plastic Ball Championship ในช่วงปี 2009 ถึง 2014 กันเลยครับ เพื่อให้เกียรติกับมาร์ค รอธนั่นเอง
- ยุคลูกโบว์ลิ่งผิวยูรีเทน (1980s - ปัจจุบัน): ลูกโบว์ลิ่งผิวยูรีเทนได้เกิดขึ้นในช่วงยุคที่ลูกโบว์ลิ่งผิวยางเสื่อมความนิยมพอดีครับ และลูกผิวยูรีเทนก็ยังถูกใช้ควบคู่กับลูกผิวพลาสติกด้วย ลูกโบว์ลิ่งชนิดนี้ผลิตมาจากสารโพลียูรีเทน (Polyurethane) ซึ่งมีลักษณะนิ่ม และมีรูพรุนมากกว่าผิวพลาสติก จึงทำให้เกาะผิวเลนได้ดีกว่าลูกพลาสติก ยุคนั้นลูกยูรีเทนถือเป็นลูกโบว์ลิ่งเกรดไฮสูงสุด (High performance) เลยก็ว่าได้ครับ แต่ผิวยูรีเทนก็ยังมีรูพรุนที่ขนาดเล็กและเนื้อละเอียด เหมือนยางล้อรถที่ไม่ค่อยจะมีดอก ทำให้ลูกยูรีเทนก็ยังสู้น้ำมันได้ไม่ดีเท่าที่ควรครับเมื่อเจอกับปริมาณน้ำมันเลนมากๆ การใช้งานลูกยูรีเทนนิยมขัดผิวหยาบที่เบอร์อยู่ในช่วง 500 - 1500 เพื่อให้ลูกสามารถเกาะพื้นเลนได้ตามสภาพนำ้มัน (เท่าที่มันจะทำได้) ครับ ในยุคต่อๆมาจนถึงปัจจุบัน ลูกยูรีเทนถูกพัฒนาขึ้นมาอีกเรื่อยๆโดยมีการผสมรีแอคทีฟเรซิ่น (Reactive resin) หรือมีการใส่แกนลูกหรือเสริมเทคโนโลยีอื่น เช่น แกนมวลเบาเข้าไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพครับ
- ยุคลูกโบว์ลิ่งผิวรีแอคทีฟ (1990s - ปัจจุบัน): ช่วงต้นยุค 1990 เกิดการพัฒนาผิวลูกโบว์ลิ่งต่อยอดต่อจากผิวยูรีเทนมากขึ้น โดยมีการเติมสารเคมีเข้าไปเพื่อให้ผิวลูกโบว์ลิ่งมีรูพรุนมากขึ้น มีลักษณะเหมือนยางล้อรถที่มีดอกมากขึ้นทำให้ลูกโบว์ลิ่งสามารถเกาะเลนและดูดซับน้ำมันได้ดี ผิวลูกโบว์ลิ่งประเภทนี้เรียกว่าผิวรีแอคทีฟครับ และน้าจบเองก็เริ่มเข้ามาในวงการเป็นช่างเจาะลูกโบว์ลิ่งในยุคนี้ครับ จากประสบการณ์ของน้าจบ ลูกรีแอคทีฟที่โด่งดังในยุคนั้นก็มีบรันสวิค โซน (Brunswick Zone), อีโบไนท์ วูฟ (Ebonite Wolf) ประมาณนี้ครับ แล้วผิวรีแอคทีฟก็ยังมีการพัฒนาสูตรอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้การทำงานของลูกตามที่ต้องการ เช่น ต้องการลูกที่วิ่งไกลและหักเลี้ยว หรือลูกโบว์ลิ่งที่เกาะเลน สู้น้ำมันหนาๆได้ดี ทำให้เกิดเป็นผิวรีแอคทีฟแบบอื่นๆขึ้นมาอีกหลายแบบ เช่น ผิวเพิร์ลรีแอคทีฟ ผิวโซลิดรีแอคทีฟ ผิวปาร์ติเคิล (ซึ่งภายหลังถูกห้ามผลิตเพราะฝุ่นของแก้วที่ผสมในผิวชนิดนี้เป็นอันตรายต่อการหายใจกับช่างเจาะลูกและพนักงานในสายการผลิต) และผิวไฮบริดเรซิ่นครับ และในช่วงกลางยุค 1990s ก็เริ่มมีการนำแกนมาใส่ในลูกโบว์ลิ่งเพื่อให้ลูกโบว์ลิ่งสามารถสร้างรอบในตัวเองได้ด้วย การพัฒนาของแกนและผิวลูกโบว์ลิ่งอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีลูกโบว์ลิ่งสำหรับโยนโค้งดีๆใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ครับ
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีลูกโบว์ลิ่งตั้งแต่อดีตมาจนถึงทุกวันนี้ เท่าที่น้าจบมีข้อมูลและมีประสบการณ์ก็มีประมาณนี้ครับ สำหรับเรื่องเทคโนโลยีของผิวและแกนลูกโบว์ลิ่งทางด้านเทคนิคในเชิงลึกกว่านี้ น้าจบจะเล่าให้ฟังอีกในตอนต่อๆไปนะครับ วันนี้น้าจบโบว์ลิ่งเทคโนโลยีขอลาไปก่อน พบกันตอนหน้านะครับพี่น้อง
ติดต่อน้าจบได้ที่ เพจ ร้าน้าจบรับซ่อมลูกโบว์ลิ่ง
https://www.facebook.com/najobbowling
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น