สวัสดีครับ พี่น้องชาวโบว์ลิ่งทุกท่าน วันนี้น้าจบโบว์ลิ่งเทคโนโลยีก็มีอีกสาระดีๆเกี่ยวกับโบว์ลิ่งมาฝากทุกท่านนะครับ วันนี้น้าจบจะมาเล่าให้ฟังเรื่องเกี่ยวกับเส้นแทรคน้ำมัน หรือเส้นวงน้ำมันรอบลูกที่ติดมาบนลูกโบว์ลิ่งตอนโยน ว่าลักษณะทั่วไปแล้วแบ่งเป็นกี่แบบ แล้วแต่ละแบบมีความแตกต่างกันยังไงบ้าง หลังจากที่ได้รับชมแล้ว ท่านยังสามารถไปเปรียบเทียบกับเส้นวงแทรคน้ำมันของท่านเองได้ด้วยนะครับ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อการโยนของท่านเช่นกันครับ มาลองดูกันเลยครับ
ก่อนอื่นน้าจบขออ้างอิงถึงหลักการโยนโบว์ลิ่งพื้นฐานก่อนเลยนะครับ ว่าโดยพื้นฐานแล้ววิธีการโยนโบว์ลิ่งก็คือการโยนโบว์ลิ่งไม่ใช่การเขวี้ยงลูกออกไปครับ แต่เป็นการกลิ้งลูกโบว์ลิ่งให้เป็นไปในทิศทางที่เราต้องการครับ เช่นหากเราต้องการโยนตรง เราก็กลิ้งลูกโบว์ลิ่งให้ไถลและกลิ้งตรงไปยังจุดหมายที่เราเล็งเอาไว้ แต่หากเราโยนโค้ง เราก็ต้องกลิ้งลูกให้มีทิศทางการหมุนที่ขวางแนวที่ลูกไถลครับ จึงจะทำให้เกิดการเลี้ยวโค้งได้ ประมาณนี้ครับ ลักษณะการกลิ้งของแต่ละคนก็จะแตกต่างออกไปตามมุมมือ วิธีการโยน และจังหวะ (ทามมิ่ง - Timing) ของแต่ละคนครับ โดยปกติแล้วเลนโบว์ลิ่งมีการลงน้ำมันเอาไว้เพื่อถนอมพื้นเลนจากการเสียดสีและกระแทกของลูกโบว์ลิ่ง เมื่อเรากลิ้งลูกไปบนเลนก็จะมีน้ำมันเป็นเส้นวงรอบลูกติดขึ้นมากับลูกโบว์ลิ่งที่เราใช้โยน เส้นที่ว่าก็เปรียบได้ลายนิ้วมือที่เป็นลักษณะเฉพาะของผู้เล่นเลยก็ว่าได้ครับ ท่ีนี้ลักษณะของเส้นน้ำมันที่ว่าก็สามารถแบ่งได้ตามนี้ครับ สามารถดูภาพที่โพสประกอบได้ด้วยครับ
1. เส้นน้ำมันเต็มวงลูก หรือเส้นน้ำมันแบบคนโยนฟูลโรลเลอร์ (Full Roller) ลักษณะของเส้นน้ำมันจากการโยนแบบฟูลโรลเลอร์คือเส้นน้ำมันจะพาดผ่านช่วงระหว่างตั๊ม (นิ้วโป้ง) และฟิงเกอร์ (นิ้วกลางและนิ้วนาง) และเส้นน้ำมันแบบนี้จะยังพาดผ่านกึ่งกลางลูกโบว์ลิ่งด้วยครับ จึงเรียกว่าการหมุนแบบเต็มวงหรือฟูลโรลเลอร์นั่นเองครับ ผู้ที่โยนเส้นแทรควงน้ำมันแบบนี้มักจะเป็นผู้ที่โยนปล่อยลูกแบบมือก้ามปู ผู้ที่โยนแบบไม่ใส่นิ้วโป้ง หรือผู้ที่โยนสองมือครับ การโยนแนวนี้อาจโยนให้รอบจัดยากเนื่องจากลูกโบว์ลิ่งวิ่งในวงขนาดใหญ่ เหมือนใช้ล้อรถยนต์ขนาดใหญ่ครับ แต่การโยนแบบนี้ก็ทำให้ลูกมีคุณสมบัติในการตะกุยเลนในสภาพน้ำมันต่างๆได้ดีเช่นกันครับ
2. เส้นน้ำมันไม่เต็มวง หรือเส้นน้ำมันแบบคนโยนเซมิโรลเลอร์ (Semi Roller) ลักษณะเส้นน้ำมันแบบเซมิโรลเลอร์จะแตกต่างออกไป คือจะไมวิ่งพาดตรงช่วงระหว่างตั๊มและฟิงเกอร์แล้วครับ แต่จะมีลักษณะวิ่งอยู่ทางด้านซ้ายของตั๊มและฟิงเกอร์แทน (สำหรับผู้ที่โยนมือขวา) สำหรับเซมิโรลเลอร์ อีกปัจจัยที่เกี่ยวข้องก็คือความห่างระหว่างเส้นน้ำมันกับแนวตั๊มและฟิงเกอร์ซึ่งเป็นเกณฑ์ในการใช้แบ่งประเภทเส้นแทรคน้ำมันครับ ซึ่งก็สามารถแบ่งประเภทได้ประมาณนี้ครับ
- ไฮแทรค (High Track) ลักษณะเส้นน้ำมันของคนที่โยนไฮแทรคก็คือเส้นน้ำมันค่อนข้างจะชิดแนวตั๊มและฟิงเกอร์มากๆ แม้ลูกจะไม่ได้วิ่งวงใหญ่เท่ากับฟูลโรลเลอร์ แต่ก็ยังสามารถเกาะเลนและสู้น้ำมันได้ดีอยู่ครับ ส่วนใหญ่แล้วการโยนไฮแทรคมักจะเกิดกับผู้เล่นที่โยนแบบสโตรคเกอร์ หรือผู้ที่โยนสองมือเป็นบางคนครับ เช่น ปาร์คเกอร์ บอห์น (Parker Bohn), เจสัน (Jason Belmonte) ครับ
- มีเดียมแทรค (Medium Track) ลักษณะเส้นน้ำมันของผู่ที่โยนสไตล์นี้ เส้นน้ำมันจะอยู่ห่างจากแนวตั๊มและฟิงเกอร์เล็กน้อยตามรูปครับ การทำงานช้าเร็วของลูกสำหรับคนโยนสไตล์นี้ ขึ้นกับความสัมพันธ์ของรอบการหมุนและความเร็วในการโยนบอลเป็นหลักเลยครับ แทรคน้ำมันแบบนี้ยังเป็นที่นิยมในหมู่นักกีฬาด้วยครับ
- โลว์แทรค (Low Track) ลักษณะเส้นน้ำมันของผู้ที่โยนในสไตล์นี้ มักจะอยู่ห่างออกไปจากแนวตั๊มและฟิงเกอร์เยอะครับ ลูกที่วิ่งแบบโลว์แทรคก็จะมีระยะการวิ่งที่ไถลไกลมากกว่าแบบอื่นๆด้วยครับ ผู้ที่โยนออกบอลลักษณะนี้ อาจมีการพลิกมือในขณะโยนมากกว่าแบบอื่น จึงทำให้มีการปั่นบอลออกเป็นโลว์แทรคครับ นักกีฬาดังๆที่โยนออกบอลเป็นโลว์แทรคเช่น ราฟาเอล “ปะเอ็ง” เนโปมูเซโน่ (Rafael “Paeng” Nepomuceno) ตำนานแชมป์โลก 4 สมัยครับ
จากที่น้าจบได้เล่าลักษณะของเส้นน้ำมันในแบบตามๆให้ได้รับชมกัน น้าจบอยากแชร์อีกเรื่องครับ คือโยนโบว์ลิ่งแทรคไหน ไม่มีถูกไม่มีผิดการปล่อยลูกเป็นแต่ละแทรคของแต่ละคนเป็นสิ่งที่เกิดจากการปล่อยลูกตามลักษณะความถนัดของแต่ละท่าน ดังนั้นท่านจึงไม่ต้องกังวลในส่วนนี้นะครับ แต่สิ่งที่สำคัญคือ หากท่านรู้แทรคน้ำมันของท่านเองก็จะเป็นประโยชน์ในการวางแผนเลือกซื้อลูกโบว์ลิ่งที่ท่านใช้ให้เหมาะสมกับแนวการโยนในต่อๆไปเลยครับ และน้าจบเองก็ได้ศึกษาค้นคว้าขอมูลเทคนิคและวิธีการเจาะลูกในแทรคน้ำมันแต่ละแบบที่ต่างกันมานานกว่า 20 ปีเพื่อคุณภาพสูงสุดในการเจาะลูกโบว์ลิ่งครับ หากท่านสนใจพูดคุยหรือปรึกษาน้าจบให้ติดต่อมาตามลิงค์ด้านล่างนี้เลยครับ และวันนี้น้าจบโบว์ลิ่งเทคโนโลยีขอลาไปก่อน พบกันในตอนหน้านะครับ
ติดต่อน้าจบได้ที่ เพจ ร้าน้าจบรับซ่อมลูกโบว์ลิ่ง
https://www.facebook.com/najobbowling
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น