สวัสดีครับพี่น้องชาวโบว์ลิ่งทุกท่าน วันนี้น่าจบโบว์ลิ่งเทคโนโลยีก็มาพร้อมกับสาระน่ารู้เกี่ยวกับโบว์ลิ่งอีกเช่นเคยครับ หลายท่านเคยสงสัยและสอบถามน้าจบมาว่า “ลูกโบว์ลิ่งสามารถเจาะได้กี่รูครับ?”วันนี้น้าจบจะมาแชร์ข้อมูลเพื่อไขข้อสงสัยนี้ให้พี่น้องทุกท่านนะครับ เชิญรับชมเลยครับ
โดยทั่วไป ท่านอาจจะเคยพบเห็นลูกโบว์ลิ่งที่มีสามรู (พบบ่อยที่สุด) หรือบางท่านก็อาจจะพบลูกโบว์ลิ่งที่มีเพียงสองรู ไม่มีรูนิ้วโป้ง หรือบางท่านก็อาจจะเคยเห็นลูกโบว์ลิ่งที่มีถึง 4 รูด้วยกัน แต่ตามกติกาในปัจจุบันแล้ว ลูกโบว์ลิ่งสามารถเจาะได้ถึง 12 รูด้วยกัน (จะสามารถเจาะได้มากที่สุดเพียง 11 รูหลังจากที่กติกาใหม่บังคับใช้ในวันที่ 1 ส.ค. 2020) ส่วนแต่ละรู คือรูอะไร ใช้ทำอะไรบ้าง น้าจบขออธิบายว่ารูบนลูกโบว์ลิ่งแบ่งเป็นกลุ่มตามกติกาการเจาะลูกโบว์ลิ่งได้ตามนี้ครับ
1. รูสำหรับจับถือ (Grip hole) สามารถมีได้ 5 รู สำหรับการใส่นิ้วได้ 5 นิ้วตามรูปประกอบเลยครับ สามารถเจาะได้ตั้งแต่ 1-5 รูตามความถนัดและความสะดวกในการจับถือของแต่ละท่านเลยครับ แต่หากรูสำหรับจับถือรูไหนที่เจาะแล้ว ไม่ได้ใส่นิ้วลงไปจริงในตอนใช้โยน ก็จะถือว่าเป็นรูสำหรับปรับสมดุลน้ำหนักลูกโบว์ลิ่ง หรือ Balance hole ครับ
2. รูระบายอากาศ (Vent Hole) 5 รู โดยเจาะรูระบายอากาศได้ 1รูต่อรูสำหรับจับถือ 1 รู หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่ารูระบายอากาศมีประโยชน์ยังไง หรืออาจจะยังไม่เคยรูระบายอากาศ น้าจบขออธิบายว่าปัจจุบันการโยนโบว์ลิ่งแบบโค้งมักใส่อุปกรณ์เสริมคือแท่งตั๊ม (Thumb slug) สำหรับนิ้วโป้งซึ่งมีบากตรงขอบผิวด้านนอกเพื่อระบายอากาศอยู่แล้ว หรือมีการใส่กริ๊ปอินเสิร์ท (Grip Insert) สำหรับนิ้วกลางนิ้วนาง ซึ่งปกติจะมีความหลวมหรือมีช่องว่างประมาณนึงให้อากาศสามารถไหลออกได้อยู่แล้ว รูระบายอากาศจึงไม่มีความจำเป็นในยุคนี้ แต่สมัยก่อนที่ยังไม่มีกริ๊ปและตั๊ม การเจาะลูกสำหรับโยนโค้งจะต้องเจาะรูแล้วแต่งขนาดให้พอดีกับนิ้วของผู้เล่น ซึ่งความพอดีนั้นทำให้อากาศไม่สามารถไหลได้ เกิดเป็นภาวะสูญญากาศ ทำให้ลูกดูดนิ้วติดกับรู ไม่สามารถปล่อยออกได้ครับ การปล่อยลูกโบว์ลิ่งออกไปในสภาพที่ลูกโบว์ลิ่งที่มีน้ำหนักเยอะติดมือออกไปด้วยอาจะทำให้บาดเจ็บที่นิ้วจากการโดนลูกโบว์ลิ่งกระตุกตอนปล่อยลูก หรืออีกกรณีหนึ่งหากท่านปล่อยลูกด้วยความรุนแรงแล้วไม่สามารถเคลียร์นิ้วให้หลุดได้ ท่านอาจจะบินออกไปพร้อมลูกโบว์ลิ่งเหมือนกับซุปเปอร์แมนเลยครับ แน่นอนครับว่าท่านจะต้องอับอายขายขี้หน้าไปอีกนานและอาจจะบาดเจ็บได้ด้วยเช่นกันครับ ดังนั้นสมัยก่อนจึงมีการกำหนดให้เจาะรูสำหรับระบายอากาศได้โดยขนาดของรูต้องไม่เกิน ¼ นิ้วและจะต้องเจาะบนผิวลูกให้ทะลุออกไปที่ผนังของรูสำหรับจับถือครับ ในการแข่งขันโบว์ลิ่งอาชีพ PBA เคยมีเหตุการณ์โด่งดังในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ คือไมค์ มาชูก้าปล่อยลูกไม่หลุดแล้วบินไปกับลูกแล้วร่อนลงบนเลนเลยครับ สามารถหาคลิปดูได้ในยูทูป แล้วพิมพ์ว่า Machuga flop ครับ
3. รูสำหรับปรับสมดุลน้ำหนักหรือรูบาลานซ์ (Balance hole) 1 รู เป็นรูที่เจาะเอาไว้สำหรับปรับน้ำหนักต่างไม่ให้เกินเกณฑ์ที่กติกากำหนดครับ ในกติกากำหนดให้เจาะรูบาลานซ์ได้เพียง1 รูเท่านั้นโดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของรูไม่เกิน 1 ¼ นิ้ว รูบาลานซ์นี้ยังหมายรวมถึงรูสำหรับจับถือที่ไม่ได้มีการใส่นิ้วในขณะโยนด้วยครับ
หมายเหตุ: ในวันที่ 1 สิงหาคม 2020 จะมีการประกาศกติกาในการเจาะใหม่ซึ่งจะยกเลิกการเจาะรูบาลานซ์ในทุกกรณี หมายความว่านอกจากจะไม่สามารถเจาะรูบาลานซ์ได้แล้ว ก็ยังไม่สามารถเจาะรูสำหรับจับถือที่ไม่ได้มีการใส่นิ้วสำหรับโยนด้วยเช่นกันครับ เช่นคนที่โยนสองมือหรือมือเดียวแบบไม่ใส่นิ้วโป้ง ก็จะไม่สามารถเจาะรูนิ้วโป้งได้อีกต่อไป เพราะถือว่ารูนิ้วโป้งนั้นคือรูบาลานซ์ครับ
4. รูเจาะเพื่อการตรวจสอบ (Mill hole) 1 รู สมัยก่อนจะมีการเจาะรูเพื่อคว้านเอาเนื้อของลูกโบว์ลิ่งไปตรวจสอบค่าต่างๆของผิวลูกโบว์ลิ่ง เช่นค่าความแข็งของผิวลูกโบว์ลิ่ง โดยกรรมการการแข่งขันจะคว้านเนื้อลูกโบว์ลิ่งออกไปเป็นรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 5/8 นิ้ว และมีความลึกไม่เกิน 1/8 นิ้วครับ แต่ปัจจุบันไม่พบเห็นการเจาะรูประเภทนี้แล้วเนื่องจากการตรวจวัดค่าความแข็ง มีเครื่องมีในการตรวจวัดที่ทันสมัยขึ้นแล้ว สามารถใช้ตรวจวัดค่าความแข็งของผิวลูกโบว์ลิ่งได้โดยไม่ต้องคว้านเนื้อออก เรียกว่าดิวโรมีเตอร์ (Durometer) ครับ
ทีนี้ท่านที่มีความสนใจที่จะเจาะรูมากกว่าปกติที่พบเห็นกันบ่อย ก็สามารถเจาะได้แล้วครับหากยังอยู่ในกติกา เช่นการเจาะฟิงเกอร์สามนิ้วไว้สำหรับใส่นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อยครับ หรือหากยังถือไม่ถนัดพอ ท่านสามารถเจาะรูไว้สำหรับใส่นิ้วชี้เพิ่มอีกหนึ่งรูได้ด้วยครับ 5555 หากท่านสนใจงานเจาะที่เฉพาะทาง
ติดต่อน้าจบได้ที่ เพจ ร้าน้าจบรับซ่อมลูกโบว์ลิ่ง
https://www.facebook.com/najobbowling
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น